หลายท่านอาจจะมีความสงสัยว่าเหตุใดตอนทีเราซื้อ Harddisk หรือ Flash Drive พอมาใช้งานจริง หน่วยความจำกลับหายไป ไม่ตรงตามสเปคสินค้าที่ระบุไว้ที่กล่อง ซึ่งเกิดอาการแบบนี้แทบจะทุกแบรนด์ที่วางขายในตลาด วันนี้จึงขอออกมาอธิบายเหตุผล ว่าทำไมความจุของหน่วยความจำถึงไม่ตรงตามที่ระบุไว้
นับตั้งแต่อดีตการทำงานของคอมพิวเตอร์จะประกอบไปด้วยเลขฐานสอง (สถานะมีไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้า) นำหลักการนี้มาใช้ในการสร้างไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในการประมวลผล ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการประมวลผลแบบดิจิทัล โดยเลขฐานสองหมายถึงระบบเลขที่มีเพียงแค่ เลข 0 กับ 1 เท่านั้น หรืออาจจะมองว่าเป็น จริง/เท็จ ใช่/ไม่ใช่ มี/ไม่มี ด้วยหลักการนี้เอง จึงเป็นหน่วยที่ใช้ในการคำนวณความจุของคอมพิวเตอร์ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างหน่วยความจำที่อาจจะเคยเห็นกันบ่อย ก็คือ Byte ซึ่งถ้าหากเรามองในมุมมองของคอมพิวเตอร์ หน่วย Byte จะใช้หลักการของเลขฐานสอง ซึ่งตามมาตรฐาน IEC จะต้องมีการระบุอักษร “I” อยู่หลังตัวอักษรด้วย เช่น MiB (MebiByte) แต่ถ้ามองในมุมมองของผู้ผลิต หน่วย Byte จะใช้หลักการของเลขฐานสิบซึ่งเป็นมาตรฐาน SI Unit ยกตัวอย่าง
- ทางผู้ผลิตระบุข้างกล่องว่ามีขนาด 1000 Byte ซึ่งมีค่า = 1 KB(Kilo Bytes) แต่พอเราแปลงมาเป็นคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ระบบเลขฐานสอง จะทำให้ 1024 Bytes มีค่า = 1 KiB(KibiByte) ทำให้ความจุที่เรามองเห็น หายไป เพราะเป็นการใช้หน่วยกันคนละระบบ
- ทางผู้ผลิตระบุข้างกล่องว่ามีขนาด 500 GB มีค่า = 500*1000*1000 KB ซึ่งถ้าหากเราแปลงเป็นหน่วยคอมพิวเตอร์ จะได้ (500*1000*1000*1000/1024/1024/1024) = 465.66 GiB ในระบบคอมพิวเตอร์
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพราะการตลาดที่ทำให้ผู้ผลิตระบุข้อมูลข้างกล่องเป็นแบบนั้น หรืออาจจะมองในมุมว่าเป็นการบอกหน่วย ในระบบฐานสิบ ซึ่งเป็นที่เข้าใจของบุคคลทั่วไป ดีกว่าที่จะมองในหน่วยของคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการคำนวณที่ซับซ้อน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์หน่วยความจำไม่ตรงตามที่ระบุข้างกล่องนั่นเอง